AI อาจช่วยลดการเลือกปฏิบัติในการรับเข้าทำงาน แต่ต้องมาจากความคิดและการควบคุมอัลกอริทึมของมนุษย์ หลายครั้งที่ในโลกแห่งความเป็นจริง ชนกลุ่มน้อย (minority groups) ต้องพบเจอกับความลำเอียงหรือการเลือกปฏิบัติในสายวิชาชีพ เช่นว่าผู้ว่าจ้างอาจมีความลำเอียง (biases) ในการคัดเลือกผู้สมัครงานเนื่องจากผู้สมัครเป็นคนผิวสีหรือมีเชื้อชาติที่แตกต่าง ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะลดการเลือกปฏิบัติโดยการใช้แพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพาการตัดสินใจจากมนุษย์ อาทิ อัลกอริทึม อย่างไรก็ตาม จากงานศึกษาในปี 2562 พบว่าเมื่อไม่มีการแทรกแซงจากมนุษย์ ระบบอัลกอริทึมที่ใช้ในการคัดเลือกใบสมัครงานสามารถเกิดความลำเอียงขึ้นเหมือนกับการที่ใช้มนุษย์คัดเลือกได้เช่นกัน
ความสงสัยจึงเกิดขึ้นว่า ‘ปัญญาประดิษฐ์’(Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่สามารถเรียนรู้และจำแนกสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง นั้นจะสามารถช่วยลดการเลือกปฏิบัติในการรับเข้าทำงานได้จริงหรือไม่?
จากรายงานที่ชื่อ The Elephant in AI โดย ศาสตราจารย์ Rangita de Silva de Alwis ได้ทำการตรวจสอบกระบวนการในการจ้างงานที่มีการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ และมีข้อค้นพบสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. ร้อยละ 40 ของผู้สมัครงานได้รับข้อเสนอในตำแหน่งงานที่ถูกอิงจากอัตลักษณ์ (identities) มากกว่าจากคุณสมบัติหรือคุณวุฒิ (qualifications) ของผู้สมัคร มากไปกว่านั้น ยังมีอีกร้อยละ 30 ที่พบว่าได้รับการแจ้งเตือนตำแหน่งงาน (job alerts) ที่ต่ำกว่าทักษะการทำงานที่พวกเขามี
2. ประมาน 63 เปอร์เซ็นต์ของผู้สมัครพบว่าการรับรองระดับการศึกษา (academic recommendation) จากแพลตฟอร์มดังกล่าวนั้น เสนอระดับการศึกษาของพวกเขาต่ำกว่าระดับการศึกษาจริงที่พวกเขาได้สำเร็จมา ซึ่งข้อค้นพบดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังเพราะข้อเท็จจริงคือผู้หญิงผิวสีเป็นกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาสูงมากที่สุดในสหรัฐฯ
ข้อค้นพบข้างต้นชี้ให้เห็นว่าความพยายามในการนำ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เข้ามาแทนที่ระบบที่ใช้ในการรับเข้าทำงานที่มีก่อนหน้า ยังไม่สามารถขจัดปัญหาดังกล่าวไปได้ . . .
จึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะที่ว่า การนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้เพื่อช่วยจัดการกับปัญหาเดิมนั้นยังคงทำได้ เพียงแต่ว่าหน้าที่ที่สำคัญที่สุด จะอยู่ที่มนุษย์ผู้สร้างเครื่องมือเหล่านี้ขึ้น ที่จะต้อง ‘สอน’ ให้ปัญญาประดิษฐ์เข้าใจและสามารถสร้างความเท่าเทียมในการจ้างงานได้จริง นอกจากนั้น ผู้ว่าจ้าง (employers) ที่ใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการรับสมัครงาน ก็ควรที่จะตรวจสอบกระบวนการทำงานของแพลตฟอร์มนั้น ๆ อยู่เสมอ เพื่อค้นหาว่ามีข้อผิดพลาดอยู่หรือไม่ และยังควรที่จะตรวจสอบข้อมูลของผู้สมัครงานด้วยตัวเองอีกครั้ง เพื่อเป็นการลดปัญหาความลำเอียงที่อาจเกิดขึ้นได้